อสังหา 2560

เน็กซัสชี้แนวโน้มตลาดที่อยู่อาศัยปี 60 เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ ทำเล กลางเมืองยังคงเนื้อหอมสำหรับกลุ่มผู้พัฒนาซูเปอร์ลักชัวรี่
โดยผลสำรวจตลาดที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพมหานครในปี 2559 พบว่าตลาดที่อยู่อาศัยยังคงเติบโตในอัตราที่คงที่ ราคาคอนโดมิเนียมโดยรวมปรับตัวสูงขึ้นถึง 14% จาก 106,000 บ./ตร.ม. เป็น 121,000 บ./ตร.ม. ส่วนแนวโน้มราคาในปี 2560 คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นประมาณ 5-6% จาก 121,000 บ./ตร.ม. เป็น 128,000 บ./ตร.ม.
โดยตลาดคอนโดหรูในเมืองมีอัตราการขึ้นของราคาที่มากกว่าเมื่อเทียบกับ ตลาดรอบนอก อุปทานใหม่ในตลาดชะลอตัวเล็กน้อยซึ่งเป็นผลดี ทำให้ภาพรวมตลาดมีการดูดซับห้องชุดที่เปิดก่อนหน้านี้ไปได้มากพอสมควร


• อุปทาน (Supply)
แม้ว่าสถานการณ์ของตลาดโดยรวมจะค่อนข้างคงที่และในช่วงไตรมาสที่ 4 ผู้พัฒนาโครงการตัดสินใจชะลอการเปิดตัวโครงการไปบางส่วน แต่ในปี 2559 อุปทานของคอนโดมิเนียมใหม่ที่เปิดในตลาดมีถึง 40,000 หน่วย จาก 94 โครงการ ซึ่งทำให้มีคอนโดมิเนียมในตลาดรวมทั้งสิ้นถึง 487,000 หน่วย โดยยอดห้องชุดเปิดตัวใหม่ ต่ำกว่าปี 2558 ประมาณ 25% เท่านั้น (จำนวนห้องชุดเปิดใหม่ในปี 2558 มีทั้งสิ้น 53,000 หน่วย) ทำเลที่มีซัพพลายเพิ่มขึ้นมากที่สุด 3 อันดับแรกในปีที่ผ่านมาคือ 1. พระโขนง สวนหลวง (10,700 หน่วย) 2. พญาไท รัชดาภิเษก (9,200 หน่วย) และ 3. งามวงศ์วาน ติวานนท์ (6.900 หน่วย) โดยคิดเป็นจำนวนหน่วยมากกว่า 67% ของคอนโดมิเนียมที่เปิดใหม่ทั้งหมด สำหรับประเด็นที่น่าจับตามอง คือ ถึงแม้ว่าช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี การเปิดตัวคอนโดมิเนียมจะมีการชะลอตัวบ้าง แต่ 70% ของคอนโดมิเนียมใหม่ที่เปิดใหม่ในปีนี้ ยังคงเปิดตัวในช่วงครึ่งปีหลังดังนั้นแสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการยังคงเชื่อมั่นในการเติบโตของตลาดคอนโดมิเนียมในกรุงเทพมหานคร• อุปสงค์ (Demand)
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ยอดขายใหม่ของคอนโดมิเนียมในตลาดเฉลี่ยที่ 51,200 หน่วยต่อปี สำหรับปี 2559 คอนโดมิเนียมที่เปิดขายอยู่ในตลาดมียอดขายใหม่ 46,100 หน่วย ซึ่งต่ำกว่ายอดขายเฉลี่ย 5 ปี ประมาณ 10% อย่างไรก็ตาม การปรับตัวลดลงของห้องชุดเปิดใหม่ในช่วงปีที่ผ่านมาที่จำนวน 40,000 หน่วย เป็นผลทำให้มีดีมานด์ใหม่ มากกว่า อุปทานใหม่ และอัตราการขายรวมของคอนโดมิเนียมตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 90% (ยอดขายรวมของคอนโดมิเนียมสะสมอยู่ที่ 438,000 หน่วย)• ราคา (Price)
ในปี 2559 ราคาขายเฉลี่ยของคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ ยังปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปรับตัวสูงขึ้นถึง 14% จาก 106,000 บ./ตร.ม. ปรับขึ้นเป็น 121,000 บ./ตร.ม.

ในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งอัตราการเพิ่มขึ้นนี้ สูงกว่าอัตราเฉลี่ยราคาคอนโดมิเนียมในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ที่เพิ่มขึ้น 8% ต่อปีค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดคอนโดมิเนียมกลางเมืองราคาปรับตัวสูงขึ้นถึง 15% โดยโครงการใหม่ที่เปิดในใจกลางเมืองปีนี้ราคาสูงกว่า 150,000 บ./ตร.ม. ทุกโครงการ
ปัจจัยหลักก็ยังคงเนื่องมาจาก ราคาต้นทุนที่ดินที่เพิ่มสูงขึ้นในทุกๆ ทำเล และต้นทุนการพัฒนาโครงการอื่นๆ เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ราคาโครงการที่เปิดใหม่ที่ในทำเลกรุงเทพชั้นในที่ต่อขยายมาจากใจกลางเมือง ก็ปรับสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเช่นกัน
ทำเลที่มีการปรับราคาขึ้นอย่างมาก คือ ดินแดง พหลโยธิน พระโขนง และ ประชาชื่น สำหรับโครงการในส่วนกรุงเทพชั้นนอกราคาปรับขึ้นไม่มากนักอยู่ที่ประมาณ 8%
ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับราคาคอนโดมิเนียม และตลาดคอนโดมิเนียมเพื่อการลงทุน อีกอย่างหนึ่ง คือ การการันตีผลประโยชน์จากการลงทุนให้กับนักลงทุน ซึ่งหลายโครงการนำมาใช้เพื่อกระตุ้นยอดขายห้องชุดบางส่วน ซึ่งถือว่าสามารถช่วยผู้ซื้อที่ต้องการลงทุนได้ โดยการให้ผลตอบแทนนั้น จะต้องเป็นโครงการ ที่มีศักยภาพในการปล่อยเช่าจริงเท่านั้น

• แนวโน้มตลาดคอนโดมิเนียมแบ่งตาม Segment


• ทำเลคอนโดมิเนียมที่น่าสนใจ
ในปี 2559 คอนโดมิเนียมที่เปิดใหม่ในตลาดมียอดขายเฉลี่ยอยู่ที่ 64% ทั้งนี้ทำเลที่มียอดขายสูงสุด 3 ทำเลคือ 1. พระโขนง สวนหลวง 2.พญาไท รัชดาภิเษก 3. งามวงศ์วาน ติวานนท์

ส่วนในปี 2560 ทำเลที่น่าสนใจมี 4 ทำเลคือ
1.บริเวณ เพลินจิต/ชิดลม/หลังสวน ทิศทางการพัฒนาคอนโดในระดับพรีเมียม กลุ่มเป้าหมายระดับ high-end ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ
2.บริเวณ อโศก/ทองหล่อ/สุขุมวิท 39-49 ทำเลในข้อ 1 และ 2 เป็น 2 ทำเลหลักที่น่าจะออกมาแข่งขันกันหลายโครงการในกลุ่มซูเปอร์ ลักชัวรี่ ซึ่งมีปัจจัยบวกจากการที่มีนักลงทุนต่างชาติสนใจซื้ออสังหาฯ ในกรุงเทพฯ เพื่อลงทุนระยะยาวมากขึ้น
3.บริเวณ พหลโยธินตอนต้น เป็นอีกหนึ่งโซนที่ถือว่าบูมเงียบๆ มาต่อเนื่อง เนื่องจากโซนอนุสาวรีย์-สะพานควาย-หมอชิต เป็นย่านชุมชนขนาดใหญ่ที่มีครอบครัวขยายค่อนข้างมาก มีแหล่งงานทั้งจากบริษัทขนาดเล็กและบริษัทขนาดใหญ่จำนวนมาก และโดยที่ตั้งของทำเลถือว่าอยู่ใกล้ใจกลางเมืองมากอีกด้วย
4.บริเวณ จรัญสนิทวงศ์ ท่าพระ ทำเลเกาะรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ที่กำลังก่อสร้างอยู่มี 2 โซน คือ โซนบางซื่อ-ท่าพระ และโซนหัวลำโพง-บางแค ซึ่งตลอดทั้งสองโซนได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ต่อเนื่อง ปัจจัยบวกของโซนนี้คือการก่อสร้างคืบหน้าไปมาก


ภาพจากโครงการฮาบิเทีย พาร์ค เทียนทะเล 28

สำหรับตลาดบ้านแนวราบในกรุงเทพฯ ราคาสูงในทำเลใจกลางเมืองยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ศักยภาพของทำเลและความพรีเมี่ยมของสินค้าเป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้โครงการประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับคอนโดในระดับซูเปอร์ ลักชัวรี่ ที่ราคาไม่ใช่ปัจจัยหลักในการตัดสินใจมากเท่ากับฟังก์ชั่นการใช้งานและความหรูหราที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนกลุ่มนี้ได้
ตลาดบ้านเดี่ยวในระดับราคา 5-10 ลบ. ในทำเลที่สามารถเข้าเมืองได้สะดวกจะยังเติบโตต่อเนื่อง ในขณะที่ทาวน์เฮ้าส์บริเวณรอบใจกลางเมืองในระดับราคาเดียวกันก็ยังน่าจับตามอง เนื่องจากกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มครอบครัวที่มีรายได้ค่อนข้างมั่นคง และมองหาที่อยู่อาศัยที่มีพื้นที่ใช้สอยมากกว่าสำหรับครอบครัว
สำหรับทาวน์เฮ้าส์ระดับราคาต่ำกว่า 3 ลบ. มีฐานลูกค้าค่อนข้างกว้าง โอกาสในการเติบโตยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับตลาด ซิตี้คอนโดซึ่งเป็นราคาสินค้าที่จับต้องได้และคุ้มค่า โดยหนี้สินครัวเรือนและความสามารถในการกู้เงิน เป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้สินค้าประเภทนี้ประสบความสำเร็จในตลาดปีหน้า