Quality Houses Public Company Limited
ควอลิตี้ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน)
• www.qh.co.th
• 1388

NEWS UPDATE
• QH ตั้งเป้าปี 60 ยอดพรีเซลราว 1.8 หมื่นลบ.,รายได้ขายอสังหาฯราว 1.9 หมื่นลบ.
1 ก.พ. 2560 : สำนักข่าวอินโฟเควสท์
บมจ.ควอลิตี้เฮ้าส์ (QH) แจ้งแผนธุรกิจและเป้าหมายการดำเนินงานในปี 60 ผ่านเว็บไซต์ของบริษัท โดยตั้งเป้าหมายยอดพรีเซลที่ราว 1.8 หมื่นล้านบาท ,รายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ ราว 1.9 หมื่นล้านบาท ขณะที่รายได้จากการเช่าอสังหาริมทรัพย์ อยู่ที่ราว 1 พันล้านบาท พร้อมจะเปิด 10 โครงการใหม่ ซึ่งเป็น low-rise projects มูลค่ารวม 1.15 หมื่นล้านบาท
พร้อมกันนี้ตั้งงบสำหรับการซื้อที่ดินในปี 60 ที่ระดับ 5-6 พันล้านบาท จากระดับ 2.3 พันล้านบาทในปีก่อน และงบลงทุนสำหรับการก่อสร้าง 1 หมื่นล้านบาท จากระดับ 9 พันล้านบาทในปีก่อน
สำหรับผลการดำเนินงานในปี 59 บริษัทมียอดพรีเซล ราว 1.5 หมื่นลบ.
• โบรกฯเชียร์ ซื้อQH มองกำไรปี 60 ฟื้นหลังหดตัวรอบ 2 ปี รุกแผนเปิดแนวราบ-คุมค่าใช้จ่าย,ลุ้นกำไรพิเศษ H2/60
24 มี.ค. 2560 : สำนักข่าวอินโฟเควสท์
โบรกเกอร์ แนะนำ”ซื้อ”หุ้นบมจ.ควอลิตี้เฮ้าส์ (QH) หลังมองกำไรสุทธิปีนี้กลับมาฟื้นได้อีกครั้งหลังหดตัวในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แม้ยอดขายรอโอน (Backlog) ปีนี้ไม่มากนัก แต่คาดยอดขายและรายได้จะยังเพิ่มขึ้น จากการเปิดโครงการใหม่ที่เพิ่มขึ้น และเป็นแนวราบถึง 10 โครงการท่ามกลางความต้องการที่ยังคงมีอยู่มาก แม้กำลังซื้อตลาดรวมจะยังไม่ได้เติบโตมากนัก ขณะที่ QH เน้นการควบคุมค่าใช้จ่ายช่วยหนุนผลประกอบการโดยรวมด้วย
ส่วนการที่ QH จะลดสัดส่วนหุ้นใน บมจ.แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป (LHBANK) เหลือราว 13% เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อผลการดำเนินงาน แต่ในทางกลับกันน่าจะทำให้รับรู้รายได้ดีขึ้นจากการที่ LHBANK มีต้นทุนทางการเงินลดลง และมีโอกาสเติบโตได้ดีจากการมีพันธมิตรอย่าง CTBC จากไต้หวันเข้ามา
นอกจากนี้ QH ยังมีโอกาสที่กำไรสุทธิในปีนี้อาจก้าวกระโดดดีกว่าที่คาดหาก QH สามารถรับรู้กำไรพิเศษจากการลดสัดส่วนการถือหุ้นใน LHBANK ตามแผนการเพิ่มทุนของ LHBANK ให้กับ CTBC ที่ 2.2 บาท/หุ้น ซึ่งสูงกว่ามูลค่าทางบัญชี โดยการดำเนินการดังกล่าวคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังปีนี้
ขณะที่ราคาหุ้น QH ยัง Laggard และมี Valuation ที่ต่ำ ขณะที่ให้อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลที่ค่อนข้างสูง ทำให้ยังเป็นที่น่าสนใจในการลงทุน แม้ราคาหุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์จะไม่ค่อยได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากในช่วงนี้
ราคาหุ้น QH พักเที่ยงอยู่ที่ 2.58 บาท เพิ่มขึ้น 0.02 บาท (+0.78%) ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย ปรับขึ้น 0.15%
นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการสายงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของ QH ในปีนี้น่าจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน จากยอดจองซื้อที่จะเพิ่มขึ้นจากฐานที่ต่ำในปีที่แล้ว ขณะที่มีแผนเปิดโครงการแนวราบปีนี้ถึง 10 โครงการ มูลค่า 1.15 หมื่นล้านบาท แม้โครงการแนวราบจะมีมาร์จิ้นน้อยกว่าคอนโดมิเนียม แต่ก็ยังเป็นที่ต้องการของตลาดที่แท้จริงมากกว่าทำให้มีโอกาสที่จะขายได้มากกว่าด้วย
อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้น QH ในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้ขยับตัวมากนัก ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับหุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งอาจจะเกิดจากความกังวลต่ออุปทานในตลาดที่มีค่อนข้างมากในช่วงนี้ อีกทั้งดอกเบี้ยมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น และจะการบังคับใช้กฎหมายภาษีและสิ่งปลูกสร้างใหม่ ซึ่งอาจจะกระทบต่อต้นทุนของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์
ขณะที่ QH นับว่าอัตราการเติบโตไม่ได้หวือหวามากนัก แต่ก็ยังมี valuation ที่ต่ำ และให้อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลในระดับที่ดี โดยประเมินในช่วง 2 ปีข้างหน้าจะอยู่ในระดับราว 7%
“เรายังคงคำแนะนำ”ซื้อ”หลักๆ มาจากการประเมินราคาหุ้นที่ค่อนข้างถูก และยอดพรีเซลล์เริ่มดีขึ้นจากฐานที่ต่ำในปีที่แล้ว แม้กำลังซื้อไม่ได้ดีมากนัก ปีที่แล้วบริษัทไม่ได้เปิดโครงการเยอะ และมีเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่กระทบต่อการบริโภคในประเทศ แต่ปีนี้เปิดมาด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ดีกว่าปีที่แล้ว และราคาหุ้นตอนนี้ก็ Laggard และ valuation ที่ต่ำทำให้ยังน่าสนใจลงทุน”นายอภิชาติ กล่าว
นายอภิชาติ กล่าวอีกว่า สำหรับการที่ QH จะลดสัดส่วนการถือหุ้นใน LHBANK เหลือ 13.7% จากปัจจุบันที่ถืออยู่ 21.34% หลัง CTBC Bank Co., Ltd. (CTBC) จากไต้หวันจะเข้ามาถือหุ้นใน LHBANK นั้นเชื่อว่าจะส่งผลดีต่อ QH มากกว่าแม้ว่าจะมีสัดส่วนการถือหุ้นที่ลดลง แต่ในแง่ของการรับรู้รายได้น่าจะดีขึ้นในอนาคตจากการที่ LHBANK จะมีต้นทุนทางการเงินลดลง และมีศักยภาพการเติบโตที่ดีจากการมีพันธมิตรใหม่เข้ามา
ด้าน บล.บัวหลวง ระบุในบทวิเคราะห์ว่า การเติบโตของกำไรหลักของ QH ไม่น่าตื่นเต้นนักในปีนี้ จากแผนธุรกิจที่จะมีการโอนราว 1.96 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 10% สอดคล้องกับแผนของ QH ที่มีแผนเปิดตัวโครงการราว 1.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 27% จากฐานต่ำในปีที่แล้ว ขณะที่แผนการลดต้นทุน และค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร(SG&A) นั้น อาจต้องใช้เวลาพอสมควรจึงจะเห็นพัฒนาการที่สำคัญ
อย่างไรก็ดี QH ยังมีประเด็นบวกที่รอคอยอยู่ คือ เงินปันผลมีโอกาสมากกว่าคาด จากการปรับ payout ratio เพิ่มขึ้น อาจส่งผลให้ yield เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่สูงอยู่แล้วที่ 6.9% และอาจมีการบันทึกกำไรพิเศษจากการลดสัดส่วนใน LHBANK ลง ซึ่งดีลจะเสร็จสิ้นในช่วงไตรมาส 3/60 ซึ่งคาดจะมีกำไรพิเศษราว 722 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัพไซด์ราว 21% ของประมาณการกำไรในปัจจุบัน
บทวิเคราะห์ของบล.ทรีนีตี้ ระบุว่า QH ตั้งเป้าหมายยอดขายในปีนี้อยู่ที่ 1.8 หมื่นล้านบาท โดยสัดส่วนหลักจากคอนโดมิเนียม ที่คาดว่าจะมาจากโครงการ Q-Sukhumvit ราว 1.2 พันล้านบาท ขณะที่เป้าหมายรายได้อยู่ที่ 1.9 หมื่นล้านบาท โดยที่จะเป็นรายได้จากคอนโดมิเนียมราว 20% จากการโอนโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ 4 โครงการ
ขณะที่จะเปิดโครงการเปิดตัวใหม่ 10 โครงการ โดยไม่มีการเปิดโครงการคอนโดมิเนียม เนื่องจาก QH ต้องการขายโครงการคอนโดมิเนียมในสต็อกก่อน และ QH จะทำการเปิดโครงการภายใต้ Q-District ที่จะมีการรวมโครงการแนวราบต่าง ๆ มาอยู่ด้วยกัน อาทิ โครงการทาวน์โฮมและบ้านเดี่ยว เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายด้านการบริหารจัดการและใช้ประโยชน์จากประหยัดต่อขนาด(Economy of Scales) ในการก่อสร้าง
ถึงแม้ว่าผลประกอบการของ QH ปี 59 จะอ่อนตัวลง และยอด Backlog ยังอยู่ในระดับต่ำ แต่เนื่องจากโครงการแนวราบของ QH เป็นโครงการ Pre-built ทำให้มองว่าเป้ารายได้ปีนี้ที่ 1.9 หมื่นล้านบาท จึงยังไม่น่าเป็นห่วง และการเปิดตัว Q-District จะมาช่วยสนับสนุนการลดค่าใช้จ่ายลง แต่อย่างไรก็ดีทาง QH ตั้งเป้ารายได้จากส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมอยู่ในระดับเดิม เนื่องจากหากดีล LHBANK สำเร็จจะส่งผลให้มีการรับรู้กำไรลดลง
บล.ไอร่า ระบุในบทวิเคราะห์ว่า แนวโน้มผลประกอบการของ QH ในปีนี้จะเติบโต 9% หรือมีกำไรสุทธิที่ 3.36 พันล้านบาท จากแผนการส่งมอบ 4 โครงการคอนโดมิเนียมใหม่ ที่มี Backlog รอโอนจำนวน 3.4 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 17% ของเป้าประมาณการ ขณะที่คาดส่วนที่เหลือจะมาจากการขายโอนโครงการแนวราบที่ QH ถนัดเป็นหลัก โดยคาดแนวโน้มการขายโครงการแนวราบจะเติบโตได้ดีขึ้นจากแผนการเปิด 10 โครงการใหม่ที่เน้นเปิดเป็นโครงการแนวราบบนทำเลกรุงเทพฯและปริมณฑลทั้งหมด มูลค่ารวม 1.15 หมื่นล้านบาท และแผนเปิดตัวโครงการแนวราบในรูปแบบใหม่ภายใต้แบรนด์ Q District ที่จะรวบรวมแบรนด์ต่างๆ ของ QH มาพัฒนารวมบนที่ดินขนาดใหญ่ผืนเดียว และยังได้ประโยชน์จาก Economy of Scale

PRESENTATION







































